ตะวันออกเฉียงเหนือ

 

 


ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นที่ราบใหญ่ตอนใจกลางของแหลมทอง หรืออินโดแปซิฟิค อยู่ระหว่างเส้นแวง ๑๐๑ องศา กับ ๑๐๕ องศาตะวันออก และเส้นรุ้ง ๑๔ องศา กับ ๑๘ องศา ๓๐ ลิบดาเหนือ มีทิวเขาเป็นกรอบล้อมรอบพื้นที่อยู่เกือบทุกด้าน จึงมีสภาพเป็นที่ราบสูง พื้นที่แยกออกจากภาคกลาง และภาคตะวันออกโดยมีทิวเขา และป่าใหญ่กั้นไว้ มีลำน้ำโขงกั้นอยู่ทางเหนือและทางตะวันออก และเป็นเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับลาว
            ในทางประวัติศาสตร์ ในสมัยโบราณภาคนี้เคยเป็นอาณาจักรขอมก่อนที่จะตกมาเป็นของไทย ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีชนชาวเขมร และส่วยปะปนอยู่กับชนชาติไทยทางตอนใต้ของภาค  ส่วนทางตอนเหนือและตะวันออก มีชนชาวเวียตนามเข้ามาปะปนอยู่บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังสงครามมหาเอเซียบูรพา ได้มีชาวเวียตนามอพยพเข้ามาอยู่อีกเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นยังมีชนชาติอยู่ทั่วไปทั้งที่เป็นจีนแท้ และลูกผสม
            โดยเหตุที่มีพื้นที่เป็นที่ราบสูง มีอากาศร้อนจัด และหนาวจัด พื้นดินไม่เก็บน้ำจึงมีสภาพแห้งแล้ง พื้นที่อันกว้างขวางจึงเป็นป่าดงและทุ่งหญ้า อย่างไรก็ตามในระยะต่อมาเมื่อได้มีโครงการชลประทานเพิ่มมากขึ้น ทำให้ภาคนี้กลับกลายเป็นอู่ข้าวอู่น้ำแหล่งที่สองรองจากภาคกลาง
            ในด้านภูมิรัฐศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ในวงกระหนาบของประเทศลาวและเขมร การติดต่อกับประเทศลาวทำได้สดวกตลอดแนวชายแดน เพราะมีเพียงลำน้ำโขงกั้นอยู่ และประชาชนเป็นชนเผ่าเดียวกันกับไทย ส่วนทางเขมรนั้น ทิวเขาพนมดงรักกั้นอยู่อย่างค่อนข้างสมบูรณ์  การติดต่อถูกจำกัดอยู่ตามช่องทางต่าง ๆ ผ่านเขาที่สูงชัน และเป็นแนวยาวตลอด
            ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่ประมาณ ๑๕๕,๔๐๐ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณหนึ่งในสามของพื้นที่ประเทศไทย และมีประชากรอยู่ประมาณหนึ่งในสามของประชากรทั้งประเทศ
สภาพทางธรณีวิทยา
            ที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีลักษณะคล้ายปากปล่องภูเขาไฟขนาดใหญ่ โดยมีทิวเขาเลยอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ทิวเขาเพชรบูรณ์ ทิวเขาดงพระยาเย็น และทิวเขาสันกำแพงอยู่ทางด้านทิศตะวันตก ทิวเขาพนมดงรักอยู่ทางด้านทิศใต้ มีภูเก้าและภูพานอยู่ทางด้านทิศเหนือ และเชื่อมต่อกับทิวเขาเลยมามาพบทิวเขาพนมดงรัก พื้นที่โดยทั่วไปสูงเหนือระดับน้ำทะเล ประมาณ ๑๔๐ – ๒๐๐ เมตร พื้นที่ส่วนใหญ่ลาดเอียงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ ๕๐ เมตร ลักษณะพื้นที่เป็นลูกคลื่นน้อย ๆ เนื้อดินเป็นดินปนทราย และเกือบไม่มีดินตะกอนอยู่เลย
    ภูเขา

            มีทิวเขาไม่มากนัก และมีขนาดไม่ใหญ่นัก ส่วนใหญ่จะอยู่ตามริมขอบของภาค มีอยู่ตอนกลางของพื้นที่อยู่บ้างเพียงเล็กน้อย พอจะแบ่งทิวเขาในภาคนี้ออกได้เป็น ๔ ทิวเขาด้วยกันคือ ทิวเขาเลย ทิวเขาภูเก้า ทิวเขาภูพาน และทิวเขาพนมดงรัก
            ทิวเขาเลย  เป็นทิวเขาหินแกรนิต อยู่ในแถบตะวันตกเฉียงเหนือของภาค ในเขตจังหวัดเลยกับจังหวัดอุดร ทิวเขานี้เป็นแขนงของทิวเขาเพชรบูรณ์ ซึ่งแยกออกไปบนพื้นที่ราบสูงทางด้านตะวันออก มีทิศทางจากด้านเหนือ บริเวณฝั่งลำน้ำโขงทางทิศตะวันออกของ อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ลงมาทางใต้ต่อกับทิวเขาเพชรบูรณ์ทางด้านตะวันออกในตอนภูผาลาย และภูกระทิง
            ทิวเขาเลยมีความสูงเฉลี่ย ประมาณ ๕๐๐ เมตร ยอดสูงสุด ประมาณ ๑,๐๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเลกับที่ราบเลยออกจากจังหวัดอุดร และขอนแก่น มีลำน้ำที่เกิดจากทิวเขาเลยอยู่สองด้านคือ ด้านที่ไหลลงสู่ลำน้ำโขง ได้แก่ ลำน้ำเลยและลำน้ำสงคราม ส่วนด้านที่ไหลลงสู่ลำน้ำมูลมีห้วยพะเนียง
            ทิวเขาภูเก้า หรือทิวเขาเก้ายอด  เป็นทิวเขาหินแกรนิตขนาดเล็ก อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของอำเภอเมืองอุดร ในเขตอำเภอเมืองหนองบัวลำพู มีทิศทางจากเหนือในเขต อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ทอดตัวลงมาทางทิศใต้ถึงอำเภอภูเวียง และอำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น
            ทิวเขาภูเก้าเชื่อมต่อกับทิวเขาเลยทางด้านตะวันตก ทางด้านตะวันออกได้ทอดตัวไปใกล้บริเวณหนองละหาน มีความสูงเฉลี่ยประมาณ ๕๐๐ เมตร และมียอดสูงสุดไม่เกิน ๖๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล
            ลำน้ำที่เกิดจากทิวเขาภูเก้า แบ่งออกได้เป็นสองด้านคือ ด้านที่ไหลลงสู่ลำน้ำโขงได้แก่ห้วยหลวง ด้านที่ไหลลงสู่ลำน้ำมูลได้แก่แควของลำน้ำพอง และแควของลำน้ำมาว ซึ่งไหลลงสู่ลำน้ำชี

            ทิวเขาภูพาน  เป็นทิวเขาหินปูน เป็นทิวเขาที่มีขนาดใหญ่ทิวหนึ่งของภาคนี้ ทิวเขานี้ได้แบ่งพื้นที่ราบออกเป็นสองส่วนใหญ่ ๆ คือ ที่ราบนครราชสีมา – อุบล อยู่ทางด้านใต้ กับที่ราบอุดร – นครพนมอยู่ทางด้านเหนือ
            ทิวเขาภูพานเริ่มต้นจากบริเวณทิศตะวันออกของหนองละหาน ในเขตอำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี ทอดตัวไปทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ไปจดลำน้ำโขงทางด้านเหนือของปากน้ำมูล ในเขตอำเภอโขงเจียม มีความยาว ประมาณ ๒๕๐ กิโลเมตร ส่วนที่กว้างที่สุด ประมาณ ๙๐ กิโลเมตร ในแนวระหว่างภูหินปูน ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันตกของอำเภอเลิงนกทา จังหวัดอุบล ฯ กับภูผานา ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันตกของอำเภอนาแก จังหวัดสกลนคร
            ทิวเขาภูพานมีลักษณะเป็นมุมใหญ่อยู่ทางด้านใต้ของจังหวัดสกลนคร ส่วนที่ทอดตัวออกไปทางทิศตะวันออก และทิศตะวันออกเฉียงใต้นั้น แยกอยู่เป็น ๔ แนวคือ
            แนวที่ ๑  ตอนเหนือสุดจากแนวลำห้วยบางทรายไปหมดที่ภูพระบาท ในแนวลำห้วยคำชะอี ห่างจากลำน้ำโขง ประมาณ ๔ กิโลเมตร ในทิวเขาช่วงนี้มียอดเขาสูงระหว่าง ๒๐๐ – ๖๐๐ เมตร ยอดสูง ๆ ได้แก่ ภูพานสูง ๖๐๒ เมตร ภูลานช้างสูง ๖๒๘ เมตร ตอนตะวันออกสูงสุด ๒๓๐ เมตร และกว้าง ประมาณ ๒ กิโลเมตร
            แนวที่ ๒  เป็นแนวระหว่างห้วยบางทรายกับห้วยมุก เป็นแนวติดต่อกันโดยตลอด ตอนปลายสุดของแนวเขาอยู่ห่างจากลำน้ำโขงประมาณ ๑๐ กิโลเมตร มียอดสูงระหว่าง ๓๐๐ – ๕๐๐ เมตร ลูกตะวันออกสุดสูง ๓๗๖ เมตร และกว้าง ประมาณ ๑๐ กิโลเมตร
            แนวที่ ๓  เป็นแนวระหว่างห้วยมุกกับห้วยบังอี่ ตอนปลายตะวันออกสุดไปจดลำน้ำโขง บริเวณใต้อำเภอมุกดาหาร ภูเขาตอนปลาย ๆ ด้านตะวันออกไม่ต่อกันเป็นพืด ความสูงของยอดเขา ประมาณ ๒๐๐ – ๔๐๐ เมตร
            แนวที่ ๔  เป็นแนวใต้สุด อยู่ใต้แนวห้วยบังอี่ ทางตอนตะวันออกมีที่ราบคั่นเป็นตอน ๆ และไปจดลำน้ำโขงที่บริเวณภูคำ ในเขตอำเภอโขงเจียม ทิวเขานี้ปันน้ำลงสองด้าน คือด้านลำน้ำโขง และด้านลำน้ำมูล มีลำห้วยเล็กๆ อยู่มากมาย

            ทิวเขาพนมดงรัก  เป็นทิวเขาหินปูนอยู่ทางตอนใต้สุดของภาค เริ่มต้นจากบริเวณช่องตะโก ซึ่งเป็นรอยต่อกับทิวเขาสันกำแพงไปทางทิศตะวันออกจนถึงภูแดนเมือง แล้วทอดตัววกขึ้นเหนือไปสุดที่ลำน้ำโขง ในเขตอำเภอพิบูลมังษาหาร รวมความยาว ประมาณ ๕๐๐ กิโลเมตร เป็นทิวเขาแคบ ๆ มีความกว้างระหว่าง ๔ – ๒๕ กิโลเมตร ทางด้านเหนือมีลักษณะเป็นลาดยาวไปทางพื้นที่ราบสูง ซึ่งสูงประมาณ ๒๐๐ เมตร ส่วนด้านใต้เป็นผาชันลงไปสู่ที่ราบต่ำที่เรียกว่าเขมรต่ำ ยอดเขาสูงโดยเฉลี่ยประมาณ ๕๐๐ เมตร ยอดสูงสุดคือพนมดงรัก สูง ๗๒๑ เมตร อยู่ทางใต้อำเภอเดชอุดม เป็นต้นกำเนิดของลำน้ำโดมใหญ่ ยอดสูง ๆ จะอยู่ในเขต จังหวัดศรีษะเกษ ซึ่งจะมีความสูงเฉลี่ย ประมาณ ๖๐๐ เมตร ได้แก่
            พนมแม่ไก่  สูง ๕๓๒ เมตร อยู่ทางใต้ อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์
            พนมตาเหมือน  สูง ๖๗๒ เมตร อยู่ทางใต้ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ
            เขาพระวิหาร   สูง ๖๕๗ เมตร อยู่ในเขต อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ
            ในทิวเขานี้มีช่องทางผ่านหลายช่อง ที่สำคัญคือ ช่องจอม ช่องเสม็ด และช่องเม็ก
            นอกจากทิวเขาทั้งสี่ดังกล่าวมาแล้ว ยังมีเนินเขาโดด ๆ ไม่สูงนักอยู่ในแถบตะวันออกเฉียงเหนือ ของภาคในบริเวณพื้นที่ระหว่างลำน้ำสงครามกับลำน้ำโขงได้แก่
            ภูสิงห์  สูง ๔๑๘ เมตร ยาวประมาณ ๑๘ กิโลเมตร
            ภูวัว  สูง ๔๒๐ เมตร ยาวประมาณ ๒๐ กิโลเมตร
            ภูเขาเหล่านี้เป็นปลายของทิวเขาที่ต่อเนื่องมาจากดินแดนฝั่งตะวันออกของลำน้ำโขง

 

ใส่ความเห็น