ชนิดของถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าในประเทศไทย

429105_390831731006106_281101611_n

1.  ป่าประเภทไม่ผลัดใบ ได้แก่ ป่าไม้ซึ่งปรากฏให้เห็นเป็นสีเขียวชอุ่มตลอดปี พันธุ์ไม้ชนิดต่างๆที่ขึ้นอยู่จะมีการทิ้งใบตามธรรมชาติ แต่เป็นการทยอยร่วงหล่นและเกิดใหม่ ขึ้นมาทดแทนอยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถเห็นความแตกต่างเหมือนป่าประเภทผลัดใบ ป่าไม้ชนิดที่สำคัญที่จัดเป็นป่าประเภทนี้ได้แก่ ป่าดงดิบ ป่าดงดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าสนเขา ป่าชายเลน ป่าพรุ

สัตว์ป่าซึ่งอาศัยอยู่ตามป่าดงดิบ ได้แก่ แรด กระซู่ ช้างป่า กระทิง เสือโคร่ง เสือดาว หรือเสือดำ เสือลายเมฆ เลียงผา กวางป่า อีเก้ง กระจง หมี ชะนี เม่น ไก่ฟ้า นกหว้า นกแว่น นกเงือกชนิดต่างๆ และนกป่าอื่นๆ

สัตว์ป่าที่พบตามป่าดงดิบเขา ได้แก่ กวางป่า อีเก้ง กระทิง ช้างป่า กวางผา หมูหริ่ง ไก่ฟ้าหลังเทา ไก้ฟ้าหางลายขวาง ฯลฯ

สัตว์ป่าที่พบตามป่าชายเลน ส่วนใหญ่เป็นนกชายเลนและนกน้ำ เช่น นกทะเลขาแดง นกหัวโตชนิดต่างๆ นกยาง นกกินเปรี้ยว นกกะปูด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมก็มี ลิงแสม เสือปลา อีเห็น พังพอน ฯลฯ

สัตว์ป่าส่วนใหญ่ที่พบมากตามป่าพรุมักจะเป็น นกน้ำ นกตบยุง นกกวัก ฯลฯ สัตว์อื่นๆที่อาจพบตามป่าพรุ ได้แก่ จระเข้ นาก เสือปลา ลิงแสม ค่าง และสัตว์เลื้อยคลานชนิดต่างๆ

2.  ป่าประเภทผลัดใบ ได้แก่ ป่าไม้ที่ประกอบด้วยพันธุ์ไม้ส่วนใหญ่ ที่มักจะผลัดใบพร้อมกันในฤดูแล้ง ใบไม้ที่ร่วงหล่นและไม้ล้มลุกที่คลุมอยู่ตามพื้นดิน มักจะเป็นเชื้อเพลิงก่อให้เกิดไฟไหม้ลุกลามเป็นไฟป่า แต่เมื่อถึงฤดูฝน ต้นไม้ต่างๆก็จะออกดอก ออกใบ และไม้ชั้นล่างก็จะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วทำให้ป่าดูเขียวชอุ่มเช่นเดิม ป่าที่จัดอยู่ในประเภทนี้ได้แก่ ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง

ป่าเบญจพรรณ มีพันธุ์ไม้ที่เป็นอาหารของสัตว์ป่าหลายชนิด สัตว์ป่าที่ชอบอาศัยอยู่ตามป่าเบญจพรรณ ได้แก่ ละองหรือละมั่ง อีเก้ง กวางป่า เนื้อทราย ช้างป่า กระทิง วัวแดง หมูป่า ลิงชะนี หมี ค่าง นกยูง ไก่ป่า ไก่ฟ้าหลังเทา นกแก้ว นกขุนทอง และสัตว์อื่นๆมีหลายชนิด

ป่าเต็งรัง เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยสำคัญของละอง หรือละมั่ง เนื้อทราย อีเก้ง กวางป่า วัวแดง กระต่ายป่า และนกป่าหลายชนิด เช่น นกแก้ว นกขุนทอง และนกหัวขวานชนิดต่างๆ

3.  พื้นที่ชุ่มน้ำ (wetlands) หมายถึง พวกบึง หนอง พรุ แหล่งน้ำซึ่งทั้งที่เป็นธรรมชาติ หรือสร้างขึ้น เช่น อ่างเก็บน้ำที่สร้างขึ้นอย่างถาวร หรือชั่วคราว แหล่งน้ำที่มีน้ำขัง หรือไหลเข้าออก ไม่ว่าจะเป็นน้ำจืด น้ำกร่อย หรือน้ำเค็ม รวมถึงพื้นที่ที่มีน้ำทะเลท่วมถึง ในช่วงที่น้ำลดมีความลึกไม่เกินกว่า 6 เมตร

พื้นที่ชุ่มน้ำมีความสำคัญคือ เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของพวกนกน้ำ ชนิดของสัตว์ป่าที่สำคัญส่วนใหญ่เป็นสัตว์ป่าจำพวกนก ได้แก่ นกยาง นกเป็ดน้ำ นกอีดำ หรือนกอีล้ำ นกอีโก้ง นกอีลุ้ม นกกวัก นกอีแจว นกนางนวล ฯลฯ สัตว์อื่นๆที่อาจพบตามพื้นที่ชุ่มน้ำ ได้แก่ พังพอน นาก สัตว์เลื้อยคลานชนิดต่างๆ

ใส่ความเห็น