การเผยแพร่

 

 

                                                                                                                         การเผยแพร่ ทางศาสนา คริสต์

คริสต์ศาสนาที่เข้ามาเผยแพร่ในไทยเป็นครั้งแรกตรงกับสมัยกรุงศรีอยุธยาใน รัชสมัยของสมเด็จพระมหาธรรมราชา ประมาณปี ค.ศ. 1584 นิกายแรกที่เข้ามาเผยแพร่ คือ นิกายโรมันคาทอลิก ซึ่งมีทั้งคณะโดมินิกัน (Dominican) คณะฟรันซิสกัน (Franciscan) และคณะเยซูอิต (Jesuit) บาทหลวงเหล่านี้ส่วนมากเป็นพวกโปรตุเกส เมื่อเผยแพร่ศาสนาไม่ใคร่สำเร็จจึงเอาใจใส่เฉพาะพวกของตน จวบจนกระทั่งในรัชสมัยของสมเด็จรพระนารายณ์มหาราช ประเทศไทยได้มีสัมพันธภาพอันดีกับประเทศฝรั่งเศสในรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 ทำให้พวกบาทหลวงได้เข้ามาเผยแพร่ศาสนา และมีบทบาทมากขึ้นจนถึงแก่ ตั้งโรงเรียนสำหรับสามเณรเพื่อผลิตนักบวชพื้นเมือง และมีการโปรดศีลบวชให้นักบวชไทยรุ่นแรก นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งโรงพยาบาล และจัดตั้ง คณะภคิณี คณะรักไม้กางเขน

อย่างไรก็ตามเมื่อสิ้นรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแล้วคริสต์ศาสนา นิกายโรมันคาทอลิกกลับไม่ได้รับความสะดวกในการเผยแพร่ศาสนาดังที่เคยเป็นมา เพราะถูกจำกัดขอบเขต ถูกห้ามประกาศศาสนา ถูกห้ามเขียนหนังสือศาสนาเป็นภาษาไทย และภาษาบาลี ประกอบกับเมื่อพม่าเข้ามารุกรานประเทศไทย บาทหลวงถูกย่ำยี โบสถ์ถูกทำลาย พวกสอนศาสนาทั้งหลายจึงรีบหนีออกนอกประเทศ ในสมัยนี้คนไทยกำลังเผชิญชะตากรรมกับพวกพม่า จนในที่สุดพระเจ้าตากสินมหาราชได้กู้เอกราช ประเทศชาติกำลังอยู่ในภาวะสร้างเมือง การเผยแพร่ศาสนาไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร

เมื่อเปลี่ยนเป็นราชวงศ์จักรีแล้ว พวกคริสต์ได้อพยพเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้นโดยเฉพาะในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ให้อิสระในการนับถือศาสนาและทรงประเทศพระราชกฤษฎีกาให้ทุกคนมี สิทธิในการนับถือศาสนาใดก็ได้ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้นว่าสัมพันธภาพระหว่างไทยกับฝรั่งเศสไม่ดีนัก แต่ถึงกระนั้นพระองค์ก็ทรงรับรองมิสซังโรมันคาทอลิกเป็นนิติบุคคล ในรัชสมัยนี้ได้เกิดโรงเรียนอัสสัมชัญขึ้นในปี ค.ศ.1877 และได้รับพระราชทาน เงินทุนในการก่อสร้างโรงเรียน ต่อมาก็มีโรงเรียนเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่ง คือ โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ โรงเรียนเซ็นต์ฟรังซิสซาเวียร์ และมีโรงเรียนพยาบาลเซนต์หลุยส์เกิดขึ้นในเวลาต่อมา

ใส่ความเห็น